12/05/2025 4:23 AM

History

กีฬาที่เล่นบนลานน้ำแข็ง อันได้แก่ สเกตน้ำแข็งและฮอกกี้น้ำแข็ง เป็นกีฬาที่ให้ประโยชน์ในหลายๆด้าน  โดยเฉพาะการเพิ่มพลานามัยให้แก่ผู้เล่นทั้งร่างกายและจิตใจเช่นเดียวกับกีฬาประเภทอื่นๆ ในอดีตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทั้งรัชกาลที่ 8 และ 9  เมื่อครั้งทรงพระเยาว์และพำนักอยู่โลซานน์ – สวิตเซอร์แลน  ก็เคยทรงเล่นกีฬานี้  เช่นเดียวกับคนไทยจำนวนไม่น้อยขณะอยู่ในต่างประเทศ  ถ้าสนใจก็มีโอกาสได้เล่น  โดยเฉพาะปัจจุบัน มีเด็กไทยที่กำลังศึกษาในสถาบันต่างๆ นิยมเล่นกีฬาประเภทนี้จำนวนไม่น้อยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2518 ได้มีชาวญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งเข้ามาลงทุนสร้างลานสเกตน้ำแข็งในร่มขึ้นบริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่  กรุงเทพฯ เป็นลานน้ำแข็งขนาดใหญ่ใกล้เคียงมาตรฐานและจากที่นั่นกีฬาหลายประเภทที่เล่นบนลานน้ำแข็งโดยเฉพาะฮอกกี้น้ำแข็งก็ได้ถูกเผยแพร่สู่สายตาบรรดาเยาวชนไทยตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยขณะนั้นและเคยเล่นกีฬานี้ เช่น ญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน อเมริกา แคนาดา ฯลฯ นอกจากพวกเขาจะเล่นแข่งขันกันเองแล้ว ยังได้ช่วยสอนให้คนไทยได้เริ่มเล่นกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งด้วย ซึ่งต่อมาก็มีคนไทยที่เคยเล่นเมื่ออยู่ในต่างประเทศได้เข้าร่วมเล่นด้วยจนกระทั่งสามารถรวบรวมนักกีฬาคนไทยได้จำนวนหนึ่ง และได้จัดการแข่งขันแบบกระชับมิตรระหว่างทีมนักกีฬาคนไทยกับทีมจากต่างประเทศหลายครั้ง

เมื่อกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งเริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น กลุ่มอดีตนักเรียนเก่าญี่ปุ่นซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นนายทหารเรือไทย ได้ร่วมกันก่อตั้ง “สมาคมกีฬาสเกตน้ำแข็งแห่งประเทศไทย”  ขึ้นในปี  พ.ศ. 2519 ภายใต้การดูแลขององค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย โดยมี  พล.ร.ต. วีนัส  ศิริกายะ  รน. เป็นนายกสมาคมฯ ดำเนินการมาด้วยดี  จนกระทั่งในปี  พ.ศ.  2521  ลานสเกตน้ำแข็งแห่งเดียวในประเทศในขณะนั้นได้ประสบอุบัติเหตุไฟไหม้และไม่มีการบูรณะซ่อมแซมแต่อย่างใด เป็นผลให้ความก้าวหน้าของกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งและการดำเนินการต่าง ๆ ของสมาคมฯ ต้องหยุดชะงักลง

อย่างไรก็ดีกลุ่มผู้ก่อตั้งสมาคมฯ และกรรมการบางท่านก็ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ และตั้งความหวังว่า   กีฬาฮอกกี้น้ำแข็งจะต้องกลับมาเป็นที่นิยมกันในประเทศไทยอีกอย่างแน่นอน  แม้กาลเวลาผ่านไปหลายปีแต่กลุ่มผู้ก่อตั้งก็ยังคงดำเนินการภายในสมาคมฯอย่างต่อเนื่องดังจะเห็นได้จากการแก้ไขข้อบังคับของสมาคมฯ ใน ปี พ.ศ. 2529  เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับการกีฬาแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้จัดตั้งและจดทะเบียนเป็น “สมาคมกีฬาสเกตน้ำแข็งแห่งประเทศไทย”  เมื่อวันที่  12  มิถุนายน  2533

ต่อแต่นั้นมาได้มีนักธุรกิจ ไทย – ญี่ปุ่น ร่วมลงทุนสร้างลานน้ำแข็งขึ้นอีกครั้งที่ห้างสรรพสินค้า The Mall ราชประสงค์ ซึ่งในระยะแรกเริ่มให้บริการเฉพาะการเล่นสเกตน้ำแข็ง นักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งซึ่งเริ่มเปิดตัวใหม่อีกครั้งจึงยังไม่มีที่เล่น ความต้องการดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้เกิดลานน้ำแข็งในร่มตามศูนย์การค้าหลายแห่ง เริ่มจาก The Mall รามคำแหง  ที่สร้างขึ้นบริการนักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งโดยเฉพาะ ซึ่งถือได้ว่าลานแห่งนี้เป็นแหล่งส่งเสริมให้กีฬาฮอกกี้น้ำแข็งได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในส่วนของสมาคมฯ ซึ่งขณะนั้น พลเรือตรีวีนัส   ศิริกายะ  ยังคงเป็นนายกสมาคมฯ  สามารถนำสมาคมฯเข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์กีฬาฮอกกี้น้ำแข็งนานาชาติ  (Internation Ice Hockey Feceration – IIHF)  ในปี  พ.ศ. 2532  โดยการสนับสนุนเงินค่าสมาชิกรายปี ๆ ละ 500  สวิสฟรังค์  หรือประมาณ  14,000  บาท  จากการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นประจำ

การเข้าเป็นสมาชิก IIHF  ดังกล่าวเป็นผลให้กีฬาฮอกกี้น้ำแข็งได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วกว่ากีฬาบนลานน้ำแข็งประเภทอื่น ที่สมาคมฯ ดูแลอยู่ โดยได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  รวมทั้งจากต่างประเทศไม่เฉพาะ IIHF ในฐานะสมาชิก แต่ยังมีความช่วยเหลือจากมิตรประเทศสมาชิกด้วยกัน เช่น  ญี่ปุ่น และสวีเดน ในลักษณะอุปกรณ์การเล่นและการช่วยฝึกสอนนักกีฬาทั้งจัดการแข่งขันกระชับมิตรกันเป็นประจำ

เป็นที่น่าเสียดายที่ในปี  พ.ศ.  2536  สมาคมฯ  ได้สูญเสีย  พลเรือตรีวีนัส  ศิริกายะ  ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นนายกสมาคมฯ  คนแรกบริหารงานตลอดมาถึง  18  ปี   สมาคมฯ จึงมีมติให้ พลเรือตรีพิมล   หทยีช

อุปนายกคนที่ 1  ขึ้นเป็นนากยกสมาคมฯ แทน  ซึ่งในระหว่างปี พ.ศ.  2536 – 2538    กีฬาฮอกกี้น้ำแข็งเริ่มเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางอีกครั้ง  สังเกตได้ว่ามีนักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  เป็นการลงทุนสร้างลานน้ำแข็งในศูนย์การค้าเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งอันได้แก่ The Mall ท่าพระ และงามวงศ์วาน Imperial ลาดพร้าว และสำโรง  Ziar รังสิต World Trade Center

ในปลายปี  พ.ศ.  2538    พลเรือพิมล  หทยีช  นายกสมาคมฯ ได้ขอลาออกเนื่องด้วยสูงอายุและปัญหาสุขภาพ  จึงได้เชิญ พลเรือเอกอธิคม  ฮุนตระกูล  เป็นนายกสมาคมฯ แทน   ระหว่างปี    พ.ศ.  2539 – 2542

มีนายอนุกูล  ชัยเกียรติ  เป็นเลขาธิการ ในห้วง 2  ปีแรก  ปรากฏกิจกรรมหลาย ๆ รายการ  เช่น  การแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย  การแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานพระองค์เจ้าโสมสวรีฯ  (ในโอกาสเปิดลาน Ziar รังสิต)  และการแข่งขันไทยแลนด์ลีก

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2544  เมื่อ 4  ธันวาคม  2544  ที่ประชุมได้เลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการสมาคมฯ ชุดใหม่  ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ประชุมครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2544  มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก  พลเอกพิศาล   ชูประวัติ เป็นนายกสมาคมฯ  การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่เข้าบริหาร คือ   การแก้ไขข้อบังคับสมาคมฯ เปลี่ยนชื่อจากสมาคมกีฬาสเกตน้ำแข็งแห่งประเทศไทย  เป็นสมาคมกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งเปลี่ยนตราของสมาคมฯ และได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย   แล้วเมื่อ  29 พฤษภาคม  2545  ทั้งนี้สมาคมฯได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้ IIHF  ทราบและแก้ไขข้อมูลสมาชิกให้ถูกต้องด้วยแล้ว เมื่อครั้งนายกสมาคมฯไปร่วมประชุม IIHF  2002 Annual Congress  เมื่อพฤษภาคม 2545  ที่ โกเต็นเบิร์ก สวีเดน

ในด้านการร่วมกิจกรรมกับ   IIHF  ในฐานะประเทศสมาชิก  ในระยะแรกคงมีเฉพาะการไปร่วมประชุมประจำปีตามคำเชิญ   แต่หลังจากที่  นายโชอิชิ  โตมิตะ ชาวญี่ปุ่น  ได้รับเลือกตั้งให้เป็นรองประธานสหพันธ์กีฬาฮอกกี้น้ำแข็งนานาชาติ  (IIHF)  เมื่อปี 2537  ซึ่งนับเป็นชาวเอเชียคนแรกและคนเดียวในคณะผู้บริหารระดับสูงของ  IIHF  กิจกรรมด้านกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งในภูมิภาคนี้จึงฟื้นฟูขึ้น  โดย IIHF  ได้เข้ามาจัดการแข่งขันชิงแชมป์ทีมอายุต่ำกว่า  18  ปี  ในภูมิภาคเอเชียโอเชียเนียร์   โดยมีประเทศสมาชิก  12  ประเทศ  ได้แก่  ญี่ปุ่น  จีน  จีนไทเป  เกาหลีเหนือ  เกาหลีใต้  มองโกเลีย  ฮ่องกง  ไทย  สิงคโปร์  อินเดีย  ออสเตรเลีย  และนิวซีแลนด์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่และพัฒนากีฬาฮอกกี้น้ำแข็งให้เป็นที่นิยมกว้างขวางออกไปไม่เฉพาะแต่ในเมืองหนาว ทีมไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 2541  ที่กรุงปักกิ่ง  ประเทศจีน  ครั้งที่  2  พ.ศ.  2542   เกาหลีเหนือเป็นเจ้าภาพ ทีมไทยมีกำหนดการเข้าร่วมจนถึงวันเดินทางได้เกิดปัญหาการจี้เครื่องบินในเกาหลีเหนือขึ้นในวันที่นักกีฬากำลังจะเดินทาง  ทางการไทยเกรงว่านักกีฬาไทยจะเป็นอันตรายจึงระงับการเดินทางเป็นผลให้ทีมไทยต้องถอนตัวจากการเข้าร่วมแข่งขัน  โดยไม่มีโอกาสแจ้งล่วงหน้าและได้ถูกประเทศเจ้าภาพปรับเป็นเงิน  27,448  สวิสฟรังค์    หรือประมาณ  769,000  บาท  สำหรับค่าเช่าเหมาลำเครื่องบินและความเสียหายด้านอื่นๆ ที่เจ้าภาพได้เตรียมไว้สำหรับทีมไทย

ต่อมาปี   2543 นับเป็นปีที่กิจกรรมกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งพุ่งขึ้นสูงสุด    โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันใช้ลานน้ำแข็งที่ อิมพีเรียล  สำโรง  หลังจากนั้นด้วยสภาพเศรษฐกิจโดยรวมเฉพาะอย่างยิ่งผลจากการลดค่าเงินบาท  ลานน้ำแข็งต่างๆ ต้องทยอยปิดกิจการลงไปตามลำดับจนเหลือลานสำหรับฮอกกี้น้ำแข็งในกรุงเทพฯแห่งเดียว  คือ  อิมพีเรียล  ลาดพร้าว  อย่างไรก็ตามในปี 2544  เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพซึ่งไทยก็ได้เข้าร่วมการแข่งขันด้วย  และปีนี้เองได้เกิดลานน้ำแข็งแห่งใหม่แห่งเดียวในต่างจังหวัด   คือ  ที่กาดสวนแก้ว  จังหวัดเชียงใหม่   ทำให้กีฬาฮอกกี้น้ำแข็งขยายตัวสู่เยาวชนอีกครั้ง  เป็นที่น่าเสียดายที่  IIHF ได้จัดการแข่งขันในภูมิภาคนี้  เมื่อต้นปี  2545  ที่โอ๊กแลนด์  ประเทศนิวซีแลนด์  เป็นครั้งสุดท้ายโดยมีสมาชิกถึง 6 ประเทศ  ที่ขยับขึ้นไปแข่งขันในระดับโลก  คือ ญี่ปุ่น  จีน  เกาหลีเหนือ  ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์  ทำให้ประเทศที่เหลือต้องปรับมาตรฐานให้เป็นไปตามที่ IIHF  กำหนด  และ  ณ  จุดนี้ไทยได้ส่ง  คณะนักกีฬาเข้าร่วมค่ายพัฒนาในระดับผู้ฝึกสอนกรรมการผู้ตัดสิน  ผู้ฝึกสอนโค้ช  กรรมการผู้ตัดสิน  โค้ช  ผู้ฝึกสอนในระดับแรกเริ่ม  และผู้เล่นอีก  2  คน  ที่ค่ายฝึกคารูอิซาว่า ประเทศญี่ปุ่น    เมื่อ  วันที่ 20 – 24  กรกฎาคม 2545  เพื่อเป็นการยกมาตรฐานของสมาคมฯสำหรับการพัฒนาในกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งต่อไป  โดยให้สามารถฝึกสอนนักกีฬาให้ทีม  สโมสรหรือชมรมต่าง ๆ

สมาคมฯ ได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ  เมื่อวันที่   5 พฤศจิกายน  2545  สมาคมฯ   จึงมีความพร้อมที่จะร่วมกิจกรรมกีฬาฤดูหนาวในระดับนานาชาติที่อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ  และเป็นครั้งแรกที่นักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง ทีมชาติไทย  รุ่นอายุ 18 ปี ขึ้นไป ได้เข้าร่วมการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ฤดูหนาว  ( The 5 th Winter  Asian  Games  Aomori  2003 )   ที่ประเทศญี่ปุ่น  ห้วงวันที่  1 – 8  กุมภาพันธ์  2546  ซึ่งผลการแข่งขันญี่ปุ่นได้เหรียญทอง  คาซัคสถานได้เหรียญเงิน   จีนได้เหรียญ ทองแดง  เกาหลีใต้ได้ที่  4  และไทยได้ที่ 5  อย่างไรก็ดีในแมทช์ที่ไทยชนะมองโกเลีย เพื่อชิงที่  5  นักกีฬาไทยและผู้ชมคนไทยในวันนั้นได้มีโอกาสร้องเพลงชาติไทย   พร้อมกับการเชิญธงผู้ชนะในครั้งนั้นด้วย    นับเป็นความภูมิใจระดับหนึ่งของทุกคนที่เกี่ยวข้องในการแข่งขันครั้งนั้น

การพัฒนาบุคลากร  จากผลการประชุม  Asian Development Program workshop   ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว   จังหวัดเชียงใหม่     เมื่อวันที่   15 – 17    พฤศจิกายน   2545  โดยไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับสหพันธ์   IIHF/Asia  มีผู้แทนสมาคมกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งจากไทเป  มองโกเลีย  อินเดีย  ฮ่องกง  สิงคโปร์  และประเทศไทย  มีมติร่วมกันว่าในการพัฒนา 5 ปี ( ปี 2003 – 2007 )  สำหรับกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งในภูมิภาคนี้แต่ละประเทศจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพเปิดค่ายพัฒนากีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง   ประกอบกับการแข่งขันภายในระหว่าง  6  ประเทศ  ทั้งนี้ไทยเป็นประเทศแรกที่ต้องเป็นเจ้าภาพเปิดค่ายพัฒนาดังกล่าว  เมื่อวันที่ 9 – 13 สิงหาคม 2003  สำหรับปีที่ 2 ไทเปเป็นเจ้าภาพเมื่อ วันที่  9 – 17  สิงหาคม  2004   และปีที่  3  ฮ่องกงเป็นเจ้าภาพที่คุนหมิงในวันที่  8-13  สิงหาคม  2005

ความรับผิดชอบของสมาคมฯ  ยังมีต่อกีฬาอีกชนิดหนึ่งคือ  Inline Hockey  ซึ่งแต่เดิมกีฬานี้ได้รับการบรรจุเป็นชนิดกีฬาหนึ่งในการแข่งขัน   1st Asian Indoor Games    ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ กำหนดแข่งขันในเดือนพฤศจิกายน 2005  แต่ในระหว่างขั้นการเตรียมการคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้ตัดกีฬานี้ออกจากการแข่งขัน  ยังผลให้การเตรียมการในทุกด้านของสมาคมฯ  ต้องสูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย  อย่างไรก็ดีสมาคมฯ ยังคงกำหนดโครงการพัฒนากีฬานี้ควบคู่กับกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งไว้แล้ว

สิ่งสำคัญสุดท้ายที่สมาคมฯและชาวฮอกกี้น้ำแข็งทุกคนหวังอยากจะได้  คือ  ลานน้ำแข็งส่วนกลางของการกีฬาแห่งประเทศไทย  ซึ่งรัฐบาลเคยกำหนดเป็นนโยบายไว้ในแผนพัฒนาสมาคมกีฬา  5  ปี  ให้สมาคมกีฬาต่างๆ มีสนามฝึกซ้อมเป็นของตนเอง   ซึ่งหากความต้องการนี้เป็นเพียงความฝัน  การพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศตามแผนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่ผู้รับผิดชอบกิจกรรมกีฬาทุกฝ่าย  ตั้งเงื่อนไขไว้คงเป็นผลยาก  ทั้งนี้สถานะสุดท้ายของลานน้ำแข็งต่าง ๆ ของเอกชน  ได้เปลี่ยนแปลงไป  กล่าวคือ  ลานน้ำแข็งที่กาดสวนแก้ว  จ. เชียงใหม่  ได้ปิดอย่างถาวร  ด้วยเหตุผลการบริหารไม่คุ้มค่า  ลานน้ำแข็งขนาดมาตรฐานที่  เซ็นทรัล  เวิร์ล  หรือ  เวิร์ลเทรด เซ็นเตอร์ เดิม  ก็ปิดกำหนดอย่างน้อย  2  ปี  ถึง  ปี  2550  เพื่อย้ายสถานที่  แต่ชาวฮอกกี้น้ำแข็งยังโชคดีที่ลานน้ำแข็ง อิมพีเรียล เวิร์ล สำโรง  เปิดให้บริการทดแทนลานทั้ง  2  ที่ปิดไปดังกล่าว  แม้ค่าเช่าจะค่อนข้างแพง   แต่ก็ยังสามารถสนองความต้องการของกิจกรรมฮอกกี้น้ำแข็งได้   สมาคมฯจึงตั้งความหวังไว้สำหรับลานน้ำแข็งส่วนกลางและลาน  Inline Hockey  เพื่อรองรับกิจกรรมของสมาคมควบคู่ทั้ง  On Ice  และ  Off  Ice  ต่อไป  และอยากเห็นโครงการ  1 รัฐวิสาหกิจ  ต่อ 1  สมาคมกีฬา  สามารถเป็นรูปธรรมขึ้นได้  เมื่อนั้นความหวังอาจเป็นจริง  ในปี 2551 สมาคมฯมีสนามที่นักกีฬาใช้ในการฝึกซ้อมอยู่ 2 ที่ คือ ลานน้ำแข็ง อิมพีเรียล เวิร์ล สำโรง  และลาน อิมพีเรียล เวิร์ล ลาดพร้าว